“ผลไม้ต่างชาติ” มาแล้ว
“อู๋หลี่ถิง” ตลาดขนส่งผักผลไม้ขนาดใหญ่ที่สุดของนครหนานหนิง ภายในตลาดจำหน่ายทั้งผลไม้ที่นำเข้าจากลุ่มประเทศอาเซียนและของประเทศจีนเอง ในส่วนของลำไยท้องถิ่นของกว่างซีได้หมดหน้าฤดูกาลไปนานแล้ว ที่วางขายอยู่ตามแผงล้วนมาจากประเทศเวียดนาม มีราคาประมาณ 3 หยวน/ก.ก. พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสามารถขายได้ตลอดปี เนื่องจากถึงแม้ผลไม้ภายในประเทศหมดหน้าฤดู ก็ยังมีผลไม้สดใหม่จากกลุ่มประเทศอาเซียนเข้ามาจำหน่ายแทน
พ่อค้าขายส่งผู้คร่ำหวอดในวงการผลไม้มาหลายปี ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนหน้านี้หลายปีหากต้องการนำเข้าผลไม้จากประเทศเวียดนามและไทยจะต้องไปนำสินค้าถึงนครกวางเจา ค่าขนส่งที่สูงบวกกับค่าภาษี ทำให้ “ผลไม้ต่างชาติ” ราคาสูงมาก บางครั้งทุเรียน 1 ลูกราคาสูงถึงหลายร้อยหยวน มังคุด 1 ก.ก. ราคาหลายสิบหยวน ปัจจุบัน ผลไม้เขตร้อนที่มาจากอาเซียน เช่น มังคุด แก้วมังกร ทุเรียนราคาต่ำกว่า 10 หยวน/ก.ก.
การที่มีการนำเข้าผลไม้อย่างคับคั่งดังกล่าวต้องยกประโยชน์ให้การก่อตั้งของเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน” ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา จีน-อาเซียนได้ลดภาษีการนำเข้าสินค้าเกษตร และวันที่ 1 ต.ค. 2546 ผักและผลไม้ของประเทศจีนและไทยได้ดำเนินการลดภาษีเป็น “ศูนย์” เมื่อถึงเดือนม.ค. 2549 สินค้าภายใต้ข้อตกลงการลดภาษี Early Harvest ของจีน-อาเซียนได้ดำเนินการลดภาษีเหลือ “ศูนย์” หลังจากข้อตกลงการลดภาษีดังกล่าวได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้ประมาณการณ์ว่า ราคาผลไม้จากประเทศไทยในประเทศจีนจะลดลงจากปี 2545 ถึงร้อยละ 11-25 ราคาผลไม้จากประเทศเวียดนามราคาถูกลงกว่านโยบายสิทธิพิเศษการค้าชายแดนประมาณร้อยละ 6 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2553 เป็นต้นไป สินค้าจีน-อาเซียนเกือบ 7,000 รายการจะเร่งลดภาษีเหลือ “ศูนย์”
การแข่งขันระหว่าง “ท้องถิ่น” และ “ต่างชาติ”
ถึงแม้ว่าขอบเขตการค้าผลไม้ของจีน-อาเซียนจะอยู่ในลักษณะเสริมซึ่งกันและกัน เช่น แอปเปิ้ล สาลี่ ส้มเช้ง พุทราของจีนมีโอกาสทางการตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียนไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ผลไม้บางประเภทที่สามารถปลูกได้ทั้งคู่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีภูมิศาสตร์ใกล้เคียงกันประสบปัญหาอย่างแน่นอน เช่น ลิ้นจี่ ลำไย ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างได้ดีที่สุด
“ประเทศบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีปัจจัยได้เปรียบด้านสภาพภูมิอากาศ สามารถเก็บเกี่ยวผลไม้ได้เกือบตลอดทั้งปี มีความหลากหลายทั้งประเภทของผลไม้และมีปริมาณการผลิตสูง ต้นทุนด้านแรงงานและการจัดการยังต่ำ และจากการเปิดการค้าเสรี ภาษีผลไม้เป็น “ศูนย์” จะส่งผลให้ผลไม้อาเซียนจำนวนมากทะลักตลาดจีน กระทบต่อผลไม้ท้องถิ่นภายในประเทศจีน” นายหยาง ย่าเฟย หัวหน้าศูนย์วิจัยการพัฒนาชุมชนของสถาบันสังคมศาสตร์แห่งเขตฯ กว่างซี กล่าว
ปี 51 ซึ่งเป็นปีทดสอบของลิ้นจี่ท้องถิ่นกว่างซี ตั้งแต่เดือนมิ.ย. ลิ้นจี่จากประเทศเวียดนามได้ทะลักเข้ามาในตลาดจีนจากด่านชายแดน ซึ่งประจวบเหมาะตรงกับหน้าลิ้นจี่ของเขตฯ กว่างซีซึ่งมีพื้นที่ชายแดนติดกัน ด้วยราคาผลไม้ราคาถูกของเวียดนามได้เข้ามาตีตลาด ส่งผลต่อราคาลิ้นจี่ของกว่างซีเป็นอย่างยิ่ง ตามข้อมูลของกรมการเกษตรกว่างซี ตั้งแต่เดือนมิ.ย. 51 เป็นต้นมา การค้าขายลิ้นจี่บริเวณด่านชายแดนจีน-เวียดนามผิงเสียง สูงสุดมีมากกว่า 500 ตันต่อวัน ราคาซื้อขายบริเวณด่านอยู่ที่ประมาณ 2,000 หยวนต่อตัน ซึ่งก็คือ 2 หยวนต่อก.ก. ซึ่งต่ำกว่าราคาลิ้นจี่ท้องถิ่นของกว่างซี